★ ★ ★ 【 MORE THAN A GOOD PRICE 】 ID Line : 1malls ★ Hot Line : 0877815068 Mr.Krit ★ Time 24 Hours. ★ ★ ★
HOT_LINE

ค้นหารายชื่อ

Saturday, April 2, 2011

วิธีซื้อรถใหม่ป้ายแดง How to Buy a New Car


การเลือกซื้อรถใหม่ ป้ายแดง
กว่าจะเก็บเงินซื้อรถป้ายแดงได้ซักคัน มนุษย์สามัญธรรมดาอย่างเราๆ มันก็เหนื่อยละครับบางคนกว่าจะซื้อได้ก็ครึ่งค่อนชีวิต เพราะฉะนั้นต้องรอบคอบพิถีพิถันหน่อย เพื่อที่ท่านจะได้ไม่ต้องมานั่งเสียดายภายหลัง สำหรับท่านที่รู้แล้วข้ามได้เลยนะครับ ผมเองก็รู้แค่เบื้องต้นแต่อยากแบ่งปันประสบการณ์บ้าง

สิ่งแรกที่คุณจะต้องทำในการเตรียมตัวซื้อรถนั่นก็คือการถามตัวเองก่อนว่าคุณมีความจำเป็นในการใช้รถป้ายแดงมากน้อยแค่ไหน หรือแค่เห็นว่ารถรุ่นนี้สวย เท่ห์ หรืออยากขับป้ายแดง กำหนดเงินที่มีอยู่ข้อนี้ถือว่าเป็นสิ่งที่สำคัญมากทีเดียวหากคุณคิดจะซื้อรถสักคันเพราะเงินคือสิ่งที่เป็นตัวกำหนดว่าคุณควรจะซื้อรถแบบใด ยี่ห้อใด หากว่าคุณต้องซื้อแบบเงินผ่อนล่ะก็ขอแนะนำว่า คุณต้องดูความสามารถในการผ่อนแต่ละเดือน ไม่ว่าจะเป็นค่าดอกเบี้ย ค่าประกันรถที่ต้องจ่ายทุกปี ค่าซ่อมแซม ถึงจะเป็นรถใหม่ เช็คศูนย์ก็ต้องใช้เงินทั้งนั้น หรือราคาน้ำมันที่แพงขนาดนี้ ตกเดือน หนึ่งคุณต้องจ่ายเท่าไหร่ ลองบวกลบคูณหารแล้วไม่ทำให้คุณเดือดร้อน

ยกตัวอย่างเช่น ถ้ามีเงินอยู่สองแสนกว่าบาท ก็เก็บ ตรงส่วนปลายไว้เผื่อยามฉุกเฉินบ้าง เอาเงินสองแสน มาดาวน์รถเล็กๆประหยัดน้ำมันอย่างเช่น vios yaris city zx jazz avio เอารุ่นกลางๆ ก็พอราคาประมาณ 500,000-600,000 บาท หรือจะเอาปิกอัพก็ได้ เริ่มตั้งแต่ประมาณ 470,000 ขึ้นไปยิ่งช่วงนี้ลดแลก แจกแถมยิ่งกว่าโปรโมชั่นมือถือ บางรุ่นลดเป็นแสน ต่อเยอะๆ เข้าไว้ ช่วงนี้เริ่มขายยาก

สมมุติราคารถ 600,000 ดาวน์ 200,000 ก็จะผ่อน เดือนละประมาณ 7-8 พันบาทต่อเดือน แล้วอย่าลืมค่าน้ำมันและค่าใช้จ่ายอย่างอื่นเล็กน้อย สรุปแล้วในแต่ละเดือนคุณต้องจ่ายให้กับรถคันนี้ประมาณหมื่นถึงหมื่นสามพันบาท เมื่อรวมกับค่าใช้จ่ายส่วนตัวและภาระอย่างอื่นแล้วยังมีเงินเหลือพอหรือเปล่า ตรงนี้คุณจะตัดสินใจได้เอง

สำคัญมากๆ
และคิดเผื่อในระยะยาวด้วยเพราะต้องผ่อนกันยาว 4-5 ปี ไม่ใช่เดือนสองเดือน คิดง่ายๆก็คือคุณต้องมีรายรับมากกว่ารายจ่ายสองเท่า จะได้ไม่ต้องเหนื่อยมากและเครียดด้วย

อีกอย่าง ยี่ห้อรถและราคาขายต่อ มีรถบางยี่ห้อราคาแพงลิบตอนคุณซื้อ แต่พอคุณคิดจะเปลี่ยนยี่ห้อกลับราคาตกอย่างน่าใจหาย จริงๆแล้วเรื่องราคาขายต่อนั้นก็มีปัจจัยหลายข้อที่ทำให้ราคาตก ไม่ได้ขึ้นอยู่ที่สภาพหรือสมรรถนะของรถเท่านั้น แต่เกี่ยวกับเรื่องของกระแสความนิยม ความดังของยี่ห้อ สัญชาติของยี่ห้อ จำนวนศูนย์บริการ ราคาอะไหล่ ความชินตาที่เห็นบนถนน ความจุกจิกในการใช้งาน รูปลักษณ์ จำนวนคนที่รอซื้อต่อ หรือความยากในการขายต่อ ความใหม่ของยี่ห้อรวม ถึงการล้มหายไปของยี่ห้อ ฯลฯ ล้วนมีผลต่อราคาขายต่อทั้งนั้น


1. ทีนี้ก็มาดูขั้นตอนต่อไปครับ
ก่อนอื่นต้องถามตัวเองก่อนว่ามีความรู้เรื่องรถมากน้อยขนาดไหน การซื้อรถมือหนึ่งอาจมีจุดสำคัญที่ต้องพิจารณาไม่มากเท่ารถมือสอง แต่ยังไงก็ควรละเอียดถี่ถ้วนสักนิดเพื่อให้ได้รถดีๆมาขับ
เอาแบบคร่าวๆแล้วกัน

ต้องถูก
- ถูกต้องตามกฎหมาย ( แล้วผิดกฎหมายใครจะซื้อ ) ก็พวกรถนำเข้าทั้งหลายนั่นแหละ
- ถูกเงิน นิยามของคนซื้อที่ดีที่สุดคือ “เราเป็นเจ้าของเงินเพราะฉะนั้นเราต้องเป็นผู้เลือก’’ ไม่ต้องกลัวเซลล์ไม่ได้ขายรถ หรือมันจะหมดก่อน อย่าหลงคารมเซลล์สาวๆ สวยๆ เป็นอันขาด ( เหมือนใครหว่า )
- ถูกใจ เพื่อนบอกให้ใช้รถเบนซ์ ที่บ้านบอกบีเอ็ม ลูกอยากได้ 4x4 ข้างบ้านบอกกระบะดีกว่า หรือกิ๊กบอกเอารถมินิน่ารักๆ สารพัดถูกใจคนรอบข้าง แต่คุณต้องย้อนกลับมาถามตัวเองแล้วล่ะว่าซื้อรถไปเพื่ออะไร เพื่อใคร เพื่อเพื่อน เพื่อพ่อแม่ เพื่อลูก หรือเพื่อตัวเองหรือซื้อให้กิ๊ก แล้วคุณจะตอบโจทย์และยี่ห้อที่คุณเลือกได้

ต้องมีความรู้เรื่องรถ
ไม่ใช่รู้แบบละเอียด แต่ต้องมีความรู้เบื้องต้นเกี่ยวกับรถบ้างเช่น
2.1 ปีที่ผลิต และปีที่จะซื้อ ซึ่งรถยนต์ส่วนใหญ่จะออกใหม่ทุกๆ 4-6 ปี เพื่อจะไม่ได้เสียใจที่ได้รถตกรุ่นออกไปแล้วรุ่นใหม่ตามออกมาทันที ไม่ต้องมานั่งช้ำใจผ่อนกันยาว และจะได้ไม่มีปัญหาเรื่องอะไหล่สำรอง
2.2 เครื่องยนต์ เป็นแบบไหน เทอร์โบหรือธรรมดา สเป็คเครื่องยนต์สมรรถนะช่วงล่าง
2.3 เลือกยี่ห้อไหนดี

- รถยุโรป
ข้อดี หรูหรา ระบบความปลอดภัยสูง คุณค่าทางสังคมสูง
ข้อเสีย ราคาสูง ค่าบำรุงรักษาแพง บางยี่ห้อขายแพงเกินจริง ทั้งที่เมืองนอกขายถูก ก็โดนภาษีซะ…

- รถอเมริกัน
ข้อดี ได้ความปลอดภัย แข็งแรงทนทาน
ข้อเสีย มีเข้ามาขายน้อยมาก ศูนย์บริการน้อย ราคาขายต่อตกมาก

- รถญี่ปุ่น
ข้อดี มหาอำนาจรถยนต์เมืองไทยยึดครองส่วนแบ่งการตลาดมีจุดเด่นเรื่องราคา ศูนย์บริการและอะไหล่สำรอง รูปร่างหน้าตาที่ถูกใจคนไทย
ข้อเสีย ที่เห็นอยู่ก็คงเรื่องระบบความปลอดภัยที่ต้องปรับปรุง

- รถเกาหลี
ข้อดี เทคโนโลยีไม่เป็นรองใครแถมราคายังถูกกว่ามาก
ข้อเสีย การประกอบ ราคาอะไหล่และศูนย์บริการน้อยมาก

2.4 รุ่นของรถ
รหัสท้ายรถแต่ละรุ่นมีความหมายแตกต่างกันทั้งเครื่องยนต์ สมรรถนะ ราคาและคุณภาพ
ยกตัวอย่างเช่น
i จะเป็นเครื่องหัวฉีด
1.8 จะเป็นขนาดเครื่องยนต์ ความจุ 1,800 ซีซี
AT = เกียร์ออโต เป็นต้น


2. ข้อควรคำนึงในการซื้อรถใหม่
- คำนึงถึงประโยชน์ใช้สอยให้มากที่สุด บางคนซื้อรถตามกระแสเช่นซื้อ 4x4 แต่ไม่เคยขับขึ้นเขาลงห้วยซักครั้ง หรือขับแต่ในเมืองเป็นส่วนใหญ่ ซื้อปิกอัพเผื่อบรรทุกแต่ไม่ได้ใช้งานเลยหรือรถเก๋งคันเล็กๆแต่นั่งเต็มอัตราแถมขนของเต็มอีกต่างหาก

- สมรรถนะของรถ ควรทดลองขับดูก่อนว่าถูกใจไหม ความแรงมันจะสวนทางกับความประหยัดเสมอ เลือกให้ตรงกับเราที่สุด

- ตรวจเช็คเกี่ยวกับการใช้น้ำมันเชื้อเพลิงว่าใช้ประเภทไหนคุ้มค่าหรือไม่

- ราคาอะไหล่และค่าใช้จ่ายในการดูแลรักษา แพงมากไหมศูนย์บริการสะดวกหรือเปล่าหรือหาแทบไม่ได้เลย ในอนาคตเป็นอย่างไร -)

- อุปกรณ์อำนวยความสะดวกมีให้มาครบหรือยัง

- รูปทรงภายนอก เป็นหัวข้อแรกๆเลยเป็นความชอบส่วนบุคคล เลือกให้ตรงกับที่เราชอบมากที่สุด

- เปรียบเทียบก่อนซื้อ ควรดูหลายๆยี่ห้อเทียบกันทุกๆด้านใจเย็นๆ ( ดูหลายๆ คนเข้าไว้ )

- ระบบความปลอดภัย เช่นถุงลม ABS หรือว่าโครงสร้างตัวรถ

- จะเอาเกียร์ธรรมดาหรืออัตโนมัติเอาที่ตัวเองถนัด

- เลือกซื้อจากโชว์รูมหรือตัวแทนจำหน่ายที่น่าเชื่อถือ

- ตกลงกับผู้ขายหรือตัวแทนจำหน่ายเรื่องการโอนรถและทะเบียนให้ดีว่าใครเป็นคนจ่าย

- ควรมีเพื่อนหรือผู้เชี่ยวชาญเกี่ยวกับรถไปด้วยดีที่สุด

- สิ่งที่สำคัญที่สุดคือต้องได้ทดสอบขับเสียก่อน อย่าตัดสินใจซื้อเมื่อไม่มีโอกาสได้ทดสอบขับ เพราะหากมีอะไรไม่ถูกใจหรือไม่ชอบจะได้เปลี่ยนรุ่นหรือยี่ห้อได้

- ควรดูราคาหลายๆแห่งก่อนซื้อ เพราะว่าแต่ละบริษัทอาจจะมีโปรโมชั่นที่แตกต่างกัน ไม่ว่าจะเป็นอัตราดอกเบี้ยต่ำ อุปกรณ์เสริม เช่น ล้อแม็กซ์ แอร์ วิทยุ กันสนิม ซ่อมฟรี และฟรีประกันภัยรถยนต์ชั้น 1 คุณควรจะลองดูหลายๆแห่งอาจจะได้รถดีราคาไม่แพงมากก็ได้

- เช็คราคาอะไหล่และศูนย์บริการ รถบางยี่ห้อราคาอะไหล่แพงหูฉี่และหายาก มีความลำบากในการซ่อม รวมทั้งค่าซ่อมแพง หรือว่าบางยี่ห้อต้องใช้อะไหล่ของทางบริษัทเท่านั้น รวมถึงเรื่องของศูนย์บริการที่รถบางยี่ห้อมีไม่กี่แห่งอาจจะลำบากในการหาศูนย์บริการหากคุณอยู่ไกล

- หาข้อมูลเพิ่มเติมสื่อในปัจจุบันนั้นมีมากมายให้เลือก ไม่ว่าจะเป็นโทรทัศน์ วิทยุ หนังสือพิมพ์ นิตยสาร หรืออินเตอร์เน็ต คุณสามารถเช็คข้อมูลได้ทุกเรื่องเกี่ยวกับรถที่คุณอยากรู้ แต่ต้องอย่าลืมว่าสื่อเหล่านี้ไม่ได้ถูกต้องไปเสีย100 % คุณอาจจะลองถามเพื่อนที่ใช้รถดูเค้าอาจมีคำแนะนำให้คุณแต่ความคิดส่วนตัวแต่ละคนแตกต่างกันไป

- การทำประกันภัยรถยนต์ ชั้น 1 เลือกบริษัทที่น่าไว้ใจหน่อย โดยเฉพาะมือใหม่หัดขับ เพราะโอกาสเกิดอุบัติเหตุมีสูง เช็คราคาการประกันรถยนต์ ถ้าคุณจะซื้อรถเก่า ที่มีอายุการใช้งานเกินกว่า 10 ปี บริษัทประกันบางแห่ง จะไม่รับประกันภัยชั้น 1 ให้คุณถ้าเกิดกรณีอุบัติเหตุ จะทำให้คุณต้องเสียเงินมาก

ซื้อรถใหม่ป้ายแดงรอบคอบสักนิด จะได้ไม่ต้อง คิดทุบ คิดเผา สิ่งที่หลายๆ คนอยากทำเหมือนกันก็คงจะเป็นการถอยรถใหม่ป้ายแดงออกมาเชยชม ให้คุ้มกับการที่เหน็ดเหนื่อยมาทั้งปีแล้วให้รางวัลชีวิตสักหน่อยก็คงไม่มีใครว่าหรอก แต่การจะซื้อรถป้ายแดงสักคัน ซึ่งตอนนี้ก็คงจะต้องคิดกันหน่อย ทั้งราคารถบวกกับราคาน้ำมันก็แพงแสนแพง มิหนำซ้ำซื้อรถป้ายแดงใหม่ๆ ถอยจากศูนย์ช่วงนี้ก็ดันมีปัญหาพ่วงท้ายมา ให้ต้องกุมขมับ ดังนั้นจึงควรที่จะรอบคอบกันสักนิดนะครับ


3. ข้อดีของรถใหม่
3.1. คุณสามารถเลือกสี การตกแต่ง และรูปแบบได้ตามต้องการ
3.2. น่าวางใจและมีประกันภัยคุ้มครอง
3.3. สภาพและราคาง่ายต่อการตัดสินใจ
3.4. ผู้ขายจะมีการจัดหาสถาบันทางการเงิน ซึ่งดอกเบี้ยถูกกว่าคุณหาเอง หรือบางยี่ห้ออาจไม่เสียดอกเบี้ยเลย
3.5. มีประกันหลังการขาย และบริการจากผู้ชำนาญงาน


4. ต่อไปมาดูเคล็ดลับง่ายๆ กันบ้าง
4.1 หากเซลล์ หรือพนักงานขายรถ มีลูกเล่น หรือลูกล่อลูกชนที่ทำให้ลูกค้าตัดสินใจซื้อง่ายขึ้น เช่นใกล้ขึ้นราคาแล้วให้รีบซื้อ หรือขู่ว่าสัปดาห์หน้าเดือนหน้าจะขึ้นราคาแล้ว กรณีนี้มีทั้งจริง และไม่จริง ยากที่จะพิสูจน์ได้ เพราะกำหนดการขึ้นราคาขึ้นอยู่กับบริษัทหลัก ไม่ใช่ดีลเลอร์ทั่วไป การติดตามข่าวสารจากสื่อต่างๆ พอช่วยได้ แต่ก็ไม่ค่อยมีใครทราบลึก ควร ซื้อเมื่อการเงินของตัวเองพร้อม หรือมีความจำเป็นในการใช้รถโดยไม่ต้องสนใจการขู่ว่าจะขึ้นราคา
4.2 รถใกล้ตกรุ่น แต่บอกว่ารุ่นใหม่อีกนาน ไม่ว่าเซลล์ คนนั้นจะไม่ทราบจริงๆ หรือทราบแต่โกหก ก็นับเป็นเรื่องปกติที่จะต้องบอกแบบนี้ ไม่เช่นนั้นก็ระบายสต็อกรุ่นเก่าได้ยาก เราสามารถรู้เท่าทันได้ โดยติดตามข่าวสารจากต่างประเทศ และในประเทศตามสื่อต่างๆ เพราะไทยเป็นประเทศเล็กๆ อย่างไรก็ต้องเปิดตัวรถรุ่นใหม่ตามตลาดโลก ไม่ได้มีรถรุ่นที่ผลิตให้เฉพาะไทยแน่ๆ
4.3 ของแถมมีราคาแพง เป็นปกติไปแล้วที่จะต้องมีส่วนลดเป็นยอดเงินหรือมีของแถมให้เป็นแรงจูงใจ มักจะมีการบอกราคาของแถมเกินจริงหรือเกินคุณภาพไปมาก ตรวจสอบได้ไม่ยาก โทรศัพท์สอบถามจากเบอร์โทรศัพท์ตามหน้าโฆษณาในนิตยสารต่างๆ ที่มีสินค้าเดียวกันจำหน่ายอยู่ เพราะของแถมก็มักจะมาจากร้านประดับยนต์ต่างๆ เหมือนๆ กัน


5. มาดูเคล็ดลับการจองรถกันบ้าง
- เดินเข้าไปในโชว์รูมมองหาเซลสาวๆ ที่สวยที่สุด แหะๆ ( ล้อเล่น หื่นจังเลยตรู )
หลังจากที่ชมรถพร้อมทั้งฟังหล่อนสาธยาย ยกแม่น้ำทั้ง 5 มาแล้วอย่าลืมขอเธอทดลองขี่ดูก่อน ( เฮ้ยทดลองขับรถ ) แล้วค่อยมาคุยรายละเอียดกัน ซึ่งข้อความต่อไปนี้ยืมมาจากในหนังสือ ลองดูนะครับ

รายละเอียดข้างล่างนี้ เป็นเคล็ดลับที่ผู้ขายนิยมใช้ โดยแต่ละข้อเป็นคำแนะนำและวิธีแก้ซึ่งเหมาะสมที่สุด
- เคล็ดลับ - จากค่าเฉลี่ย เซลแมนขายรถชอบคุยกับคุณ เป็นเวลานาน เพื่อให้คุณมีเวลาเปรียบเทียบร้านค้าได้น้อยลง
วิธีแก้ - อย่ารีบร้อน ถ้าไม่ได้ตามที่ต้องการ ให้ออกไปหาร้านใหม่

- เคล็ดลับ - เซลแมนย่อมมีความสามารถในการโน้มน้าว ให้คุณรู้สึกต้องการรถที่เขาแนะนำได้ไม่ยาก
วิธีแก้ - อย่าตกหลุมพราง แม้คุณจะรู้สึกว่าต้องการรถคันนั้นมาก อย่าพึ่งบอกให้เซลแมนรู้ ให้ออกจากร้านนั้นเพื่อใช้เวลาคิดประมาณ 48 ชั่วโมง ก่อนเซ็นสัญญาซื้อ

- เคล็ดลับ - เซลแมนขายรถบางคนมีความชำนาญมาก คุณจะรู้สึกสะดวกสบาย และไว้วางใจในคำพูดของเขา
วิธีแก้ - อย่าลืมว่าเขาคือเซลแมนที่มีจุดประสงค์เพียงอย่างเดียวคือหาเงิน ( จากคุณ ) ถึงเขาจะเป็นเซลแมนที่ดี แต่นั่นคือหน้าที่ของเขาคุณควรเพียงมองหาสิ่งที่ต้องการ

- เคล็ดลับ - ทันทีที่คุณเดินเข้าไปในร้าน งานของเซลแมนคือการขายรถให้คุณในราคาสูงที่สุดที่จะทำได้เพราะหัวใจสำคัญของเซลแมน คือกำไรและคอมมิชชั่น ( เซลแมนส่วนมากทำงานแลกกับค่าคอมมิชชั่น )
วิธีแก้ - คุณจำเป็นต้องทำการบ้าน รู้ราคารถและตัดสินใจก่อนที่จะเดินเข้าไปในร้าน อย่าซื้อก่อนแล้วจึงค่อยกลับมาทำการเปรียบเทียบใช้เงินของคุณให้คุ้มค่าที่สุด

- เคล็ดลับ - เซลแมนยืนยันที่จะไม่ลดราคา
วิธีแก้ - ไปที่อื่น หัวเราะและเดินออกไป

- เคล็ดลับ - เซลแมนยืนยันว่านั่นคือราคาพิเศษแล้ว
วิธีแก้ - ถ้าคุณพบการยืนยันเช่นนี้ อย่าเชื่อง่ายๆ พิจารณาว่าเซลแมนโกหกหรือไม่? กลับมาคิดก่อน

- เคล็ดลับ - เซลแมน ยืนยันว่า ราคาที่เสนอให้คุณไม่เคยมีใครได้ หรืออื่นๆ
วิธีแก้ - อย่าเชื่อ แน่วแน่กับความต้องการของคุณ

- เคล็ดลับ - ผู้ขายรถที่มีประสบประการเจรจาซื้อขายรถถี่กว่า 5,000 ครั้งในแต่ละปี หรือมากกว่านั้น พวกเขาเป็นมือโปร
วิธีแก้ - ไปจากคนขายพวกนี้ พวกเขาแค่ใช้สองสามเกมในการเจรจาซื้อขายก็สามารถมัดคุณอยู่มัดคุณมองหา คนขายที่ยังเด็กอยู่ พวกเขาจะมีประสบการณ์น้อย และอยากขายได้มากกว่า แต่อย่าประมาท เพราะเซลแมน เหล่านี้จะใช้เวลาไม่น้อยกว่า 1 สัปดาห์ในการอบรมเทคนิคการขายเช่นกัน

- เคล็ดลับ - การซื้อรถในเวลากลางคืน หรือในวันหยุดจะเป็นเวลาดีที่สุดของผู้ขาย
วิธีแก้ - เลือกซื้อรถระหว่างวันหยุด หรือวันสิ้นเดือน เพราะผู้ขายจะยอมต่อรอง เพื่อเพิ่มยอดขาย ในเดือนนั้น

- เคล็ดลับ - เซลแมนจะกลัวการเดินออกจากร้านของคุณมาก ดังนั้นพวกเขาจะขอที่อยู่ เบอร์โทรศัพท์ และรายละเอียดที่สามารถติดต่อคุณได้ เพื่อไม่ให้สูญเสียลูกค้า
วิธีแก้ - คุณจะเริ่มควบคุมราคาได้ในขั้นแรก การที่เซลแมนทำเช่นนี้ เมื่อคุณเริ่มเดินออกจากร้าน เป็นเครื่องมือที่ดีเยี่ยมของคุณ ดังนั้นถ้าคุณไม่พอใจราคาที่เขาเสนอ เดินออกจากร้านมาเสีย

- เคล็ดลับ - ลูกค้าส่วนใหญ่รู้ดีว่า การเซ็นสัญญาในข้อตกลงที่ยังไม่พอใจทั้งหมด คือการตาบอดในแง่ของกฎหมาย แต่ด้วยความสามารถในการโน้มน้าวของเซลแมน เขากลับทำในส่งที่ตรงกันข้ามกับความตั้งใจ
วิธีแก้ - ก่อนเซ็นสัญญา ให้คุณตรวจดูรายละเอียดทั้งหมด ตรวจดูกำหนดการจ่ายเงิน และค่าใช้จ่ายที่คุณต้องเสียโดยละเอียด นึกถึงตอนจ่ายเงินไว้ให้ดี


6. มาดูการเจรจาต่อรองที่คุณควรและไม่ควรทำ
ด้วยความพยายาม คุณจะพบว่าการเจรจาซื้อขายให้ได้กำไรเป็นเรื่องง่ายกว่าที่คิด และเมื่อคุณเริ่มป้องกันตัวเองจากการเอารัดเอาเปรียบได้ทักษะในการซื้อขายที่สัมฤทธิ์ผลจะเป็นของคุณ แม้ว่าคุณจะไม่เคยมีโอกาสเรียนรู้มาก่อน แต่คุณสามารถเริ่มต้นได้จากข้อสังเกตเหล่านี้

ทำ - หาราคาที่แน่นอน ก่อนตกลงซื้อขายกับคนขาย
ทำ - ศึกษารถแบบต่างๆ เพื่อเปรียบเทียบราคา
ทำ - ตัดสินใจก่อนจะทำการเจรจาซื้อขาย

***อย่าทำ - ยอมรับราคาที่สูงกว่าตลาดเพราะอยากได้รถเร็วๆ

ทำ - ตัดสินใจขั้นแรก 20 เปอร์เซ็นต์ก่อนตัดสินใจเด็ดขาด
ทำ - ยืนยันความต้องการของคุณ

***อย่าทำ - แสดงความปรารถนาอย่างแรงกล้าในรถคันใดคันหนึ่ง

ทำ - เตรียมที่จะเดินออก เมื่อคุณรู้สึกอึดอัดในการตัดสินใจ เพื่อรักษาทางเลือกเดิมไว้ และป้องกันตัวเองจากโน้มน้าวของคนขาย

***อย่าทำ - อย่าให้เซลแมนควบคุม หรือทำให้คุณพอใจมากเกินไป

ทำ - ถ้าเซลแมนซักถามคุณมากเกินไป ตอบคำถามด้วยการย้อนถาม
ทำ - ตรวจสอบรายละเอียดในสัญญาอย่างรอบคอบก่อนตกลงใจซื้อ
ทำ - แสดงให้เขารู้หากพบข้อบกพร่องในการทำงานหรือปัญหาของผู้ขาย
ทำ - ตัดสินใจในส่วนสุดท้าย เมื่อกลับถึงบ้านแล้ว

***อย่าทำ - อย่าคุยกับเซลแมนเพียงคนเดียวมากกว่า 2 ครั้ง

ทำ - บอกถึงทุกสิ่งที่คุณต้องการ ก่อนเซ็นชื่อ
ทำ - ทำให้เซลแมนเชื่อว่าเขาจะได้เงินจากการค้า หากยอมรับราคาที่คุณต้องการ บอกถึงราคาที่คุณจ่ายได้
ทำ - ชวนเพื่อน หรือคนรู้จักที่มีประสบการณ์ไปให้ คำแนะนำในการซื้อรถ หรือการเจรจาต่อรองด้วย

หลักการสำหรับคุณในการเจรจาซื้อขาย
คุณควรหลีกเลี่ยงการเจรจาต่อรองที่นานเกินไป ผู้ขายจำนวนมากจะยอมรับข้อต่อรองของลูกค้า เพราะไม่ต้องการสูญเสียลูกค้าให้ร้านอื่น เช่นหลังจากเลือกและลองขับรถดูแล้วถ้าคุณพอใจ สิ่งที่คุณควรพูดคือ

" ฉันชอบรถคันนี้มากและอยากได้ด้วย ถ้าได้ราคาที่สามารถจ่ายได้ก็จะซื้อไว้วันนี้เลย แต่ถ้าไม่ได้ราคาที่ต่อรองก็คงต้องยอมปล่อยมันไป เพราะฉันคิดว่าราคาที่บอกเป็นราคาที่ยุติธรรมแล้ว ฉันจะลองไปร้านอื่นดูเผื่อได้รถแบบเดียวกันและถ้าเป็นราคาที่พอรับได้ ก็คงพอใจซื้อที่นั่นเลย "
ด้วยประโยคนี้ทำนองนี้ คุณจะได้รับสิ่งที่ต้องการตัดบทสั้น ๆ ด้วยประโยคที่สามารถโน้มน้าวผู้ขายได้ จากนั้นพยายามล่อใจพวกเขาด้วยกลวิธีการเจรจาต่อรอง แต่สิ่งที่ควรระวังคือ ถ้าผู้ขายตกลง หลังจ่ายเงินแล้วควรตรวจแบบและรุ่นในใบส่งของให้ละเอียด เพื่อแน่ใจว่าผู้ขายไม่ได้แสดงรถคันนั้นแต่ขายรถอีกคันหนึ่งให้ ซึ่งจะกลายเป็นการขาดทุนจากความเลินเล่อของคุณเอง

หลังจากพอใจในข้อเสนอแล้วก่อนจะจ่ายเงินค่าจองให้ตรวจเช็คดูรายละเอียดอีกทีหนึ่งว่าเขาเขียนให้ครบตามที่เราขอหรือเปล่า ถ้าไม่ครบบอกวันมารับรถจะให้ก็ไม่ต้องจอง


7. แบบของการชำระเงิน: เป็นแบบที่เหมาะสมกับคุณหรือไม่
แปดในสิบของผู้ซื้อรถใหม่จะใช้ระบบเงินผ่อนจากผู้ขาย การจ่ายเงินระบบเงินผ่อนไม่ใช่ระบบที่เหมาะสมสำหรับทุกคน อย่างไรก็ตามถ้าคุณเพิ่งเริ่มทำงาน หรือซื้อรถเป็นครั้งแรกไม่มีเงินสะสมมากพอ ไม่ต้องการเสียเงินก้อนใหญ่หรือต้องการตัดภาระให้เป็นค่าใช้จ่ายรายเดือนที่ต่ำ วิธีเงินผ่อนเป็นวิธีที่ดีที่สุดของคุณ แต่คุณควรเปรียบเทียบสถาบันการเงิน และหาข้อมูลในการกู้เงินระหว่างธนาคารและบริษัทเงินกู้เสียก่อน อย่าเพิ่งเซ็นชื่อใดๆ ทั้งสิ้นเปรียบเทียบระยะเวลาแล้วจึงเลือกแหล่งเงินกู้ที่ดอกเบี้ยต่ำที่สุด

รูปแบบต่าง ๆ ของระบบการเงิน
ก่อนตกลงทำสัญญากับผู้ขายในระบบเงินผ่อน ให้เปรียบเทียบดอกเบี้ยและรายจ่ายที่คุณต้องเสียไปด้วย

1. บริษัทไฟแนนซ์
** ดอกเบี้ยสูงกว่าธนาคารทั่วไป
** จำนวนเงินขึ้นอยู่กับแบบ รุ่น และยี่ห้อของรถ
** ไม่เน้นการขายรถ

2. ธนาคาร
** ดอกเบี้ยถูกกว่าบริษัทไฟแนนซ์ที่บริษัทขายรถจัดให้
** ดอกเบี้ยต่อเดือนต่ำ

การกู้ยืมทั่วไป
** ให้ราคาสูงกว่าธนาคารและบริษัทไฟแนนซ์
** ควรจะกู้ยืมเป็นเวลาสั้นที่สุดเท่าที่จะทำได้
** มีการจัดเตรียมแนวทางเลี่ยงภาษีไว้ให้คุณ

3. การกู้ยืมจากบริษัทประกันภัยที่คุณทำประกันภัยด้วย
** ดอกเบี้ยถูกกว่าสถาบันการเงินทั้งหมด
** สามารถจัดแผนการจ่ายเงินรายเดือนได้เอง


8. เมื่อคิดว่าได้รถตามที่ตัวเองต้องการแล้ว ก่อนจ่ายเงินควรต้องตรวจเช็คสักนิดก่อนรับรถใหม่
*** ขั้นตอนรับรถใหม่ป้ายแดง
ก่อนที่จะลงนามในเอกสารเพื่อรับรถ ตรวจตาดูรถให้เรียบร้อย จริงๆ อย่าเพิ่งไปกังวลเรื่องของแจก ของแถม อย่าไปกังวลเรื่อง ที่รับรถไปแล้วจะตกแต่งให้ถูกอก ถูกใจอย่างไร ขอให้เป็นเรื่องของทีหลังดีกว่า

1. เริ่มกันตั้งแต่สี รอบๆ คันรถเลยครับ รอยขนแมว รอยผิวเปลือกส้ม ร่องรอยของการหลุดกระเทาะตามจุดต่างๆ โดยทั่วๆ ไปแล้ว ถ้าฝ่ายขายของรถยี่ห้ออะไรก็ตาม มีเจตนาที่บริสุทธิ์ เชื่อมั่นในคุณภาพของรถ ไม่ว่าจะเป็น ผลิตจากที่ใด การส่งมอบรถให้กับลูกค้า เขาจะกระทำกันในที่ที่มีแสงสว่าง มองเห็นตัวรถได้ทุกด้าน ทุกมุมเพราะฉะนั้น เมื่อวันที่คุณไปรับรถจากที่ใดก็ตาม ถ้ารถคันนั้นถูกจัดให้จอดอยู่ตามซอกตามมุม มีแสงสว่างไม่ชัดเจนที่จะมองเห็นตัวรถได้ทุกจุด ทุกมุม ขอให้สงสัยไว้ในใจ ก่อนเลยว่า น่าจะมีอะไรผิดปกติกับรถคันนั้น ใครจะว่าขี้สงสัย ขี้หวาดระแวง ก็ช่างเขา เพราะเงินของ เมื่อตรวจตราดูทุกซอกทุกมุมจากภายนอกแล้ว ก็เปิดประตูทุกบาน ฝากระโปรงหน้า ฝากระโปรงหลัง ไล่ตรวจทุกจุด จะเสียเวลาไปบ้างก็ช่างมัน

2. ในขณะนี้ ที่ตรวจสอบตามซอกตามมุมอยู่นั้น ถ้าบริเวณนั้นอากาศปลอดโล่ง มีการถ่ายเทอย่างดี ก็ติดเครื่อง เปิดแอร์ทิ้งไว้ เพราะในขณะที่ใช้สายตาตรวจดูตามจุดต่างๆ หูก็จะได้ฟังเสียงเครื่องยนต์ เสียงท่อไอเสียไปด้วย ฟังดูว่ามีเสียงอะไรที่ไม่น่าจะเกิดขึ้น หรือเกิดขึ้นมาบ้างหรือเปล่าเมื่อตรวจดูตามขอบตามซอกตามมุมหมดแล้ว ยังไม่จำเป็นต้องรีบดับเครื่องเข้าไปนั่งในรถ ในตำแหน่งที่ต้องนั่งขับประจำ เหยียบคันเร่ง เหยียบเบรก เหยียบคลัทช์ เหมือนเช่นที่ขับรถปกติว่ามีอะไรผิดแผกแตกต่างจากที่เคยขับหรือไม่หลังจากนั้น ก็ทดสอบทดลองสวิตช์ปุ่มควบคุมทั้งหลายแหล่ประดามีว่าทุกอย่างทำงานตามที่โฆษณาเอาไว้หรือไม่ และมีอะไรที่ขาดหายไปจากที่ตกลงกันไว้ตอนวางเงินจอง เงินมัดจำ ก็ไล่เรียงเอากันเสียตอนนี้ สวิตช์ควบคุมคันบังคับทั้งหลายแหล่ ถ้าไม่เข้าใจวิธีการใช้งานกันตอนนี้ ก็ถาม ถามให้เข้าใจทะลุปรุโปร่ง ถ้าหากทุกอย่างเป็นที่พอใจ ก็ต้องทำกันถึงฎีกาคือ ทดลองขับ

3. เมื่อทุกอย่างหมายถึงตัวรถทั้งภายนอก ภายในเรียบร้อยแล้ว ก็เป็นเรื่องของการตรวจสอบเงื่อนไขของการบริการหลังการขาย พร้อมทั้งการรับประกันสินค้า ( Warranty ) เพราะหลายยี่ห้อข้อความโฆษณาตามสื่อต่างๆ นั้น มีเพียงเพื่อชวนเชื่อให้น่าซื้อ แต่เมื่อซื้อจริงๆ แล้วต้องทบทวนตรวจทานซักถาม สอบถามกันให้ถึงแก่น ถึงเรื่องที่จะได้ และเรื่องที่จะเสีย ไม่เช่นนั้น อาจจะมีการหมกเม็ดให้ช้ำใจได้

4. เมื่อเป็นที่พอใจแล้ว ก็เรื่องของสัญญาการคุ้มครองอุบัติเหตุ หรือการประกันภัย ซึ่งค่าเบี้ยประกันในยุคนี้ ไม่ใช่ถูกๆ บริษัทที่รับประกันนั้น น่าเชื่อถือมากน้อยเพียงใด โดนกันมาหลายรายแล้ว เรื่องซ่อมห้าง ประกันชั้นหนึ่ง แต่ชิ้นส่วนที่นำมาเปลี่ยนให้เป็นของเชียงกง ครับ คงจะหมดเรื่องกันเท่านี้ สำหรับขั้นตอนการซื้อขาย เชื่อเถอะครับ รับรองได้ว่าเซลล์ที่ขายรถให้คุณนั้น จะยืนนั่งอย่างกระสับกระส่ายอยู่ข้างๆ คุณ และอาจจะ ( แอบ ) ถอนหายใจเมื่อคุณลงลายมือชื่อรับรถเป็นที่เรียบร้อยนั่นหมดหน้าที่ของพนักงานขายไปแล้ว และเขาก็ไม่รู้จักคุณอีกต่อไป จนกว่าคุณอยากจะเปลี่ยนรถใหม่ แต่ภาระหน้าที่ของคุณ

5. ก่อนออกจากโชว์รูม ก็ควรจะทำความรู้จักกับผู้รับผิดชอบฝ่ายบริการ ซึ่งคุณต้องฝากชีวิต ( คุณภาพของการซ่อมบำรุง ) ฝากความเป็นอยู่ ( ราคาของค่าบริการ ) ไว้กับเขาจนกว่าคุณจะเลิกใช้รถ สงสัยอะไรที่ทางฝ่ายขายชี้แจง ไม่กระจ่าง ก็ซักถามเอากับฝ่ายบริการได้ ตอนนี้ ( เพราะคุณขับป้ายแดง )


9. เมื่อท่านซื้อรถใหม่สิ่งสำคัญอย่างหนึ่งที่จะขาดไม่ได้เลยคือ การรันอิน และการรันอินนั้นจะต้องทำอย่างถูกวิธี
...เป็นที่ทราบกันดีว่ารถใหม่หรือช่วงเครื่องยนต์ใหม่หรือช่วงรัน-อินคือช่วงที่มีการสึกหรอมากที่สุดเพราะชิ้นส่วนต่างๆ ยังไม่เข้าที่อยู่ระหว่างการปรับสภาพซึ่งจะส่งผลโดยตรงต่ออายุงานของรถว่าจะยาวนานขนาดไหน เมื่อมีโอกาสซื้อป้ายแดงซักคันจะได้ปฏิบัติเพื่อถนอมรถให้มีอายุยืนยาวที่สุดเพราะคันนึงถูกๆ ซะเมื่อไหร่

1. ที่ระยะ 100 กิโลเมตรแรก
...หลังจากขับออกจากโชว์รูมมาช่วงแรกนี้ผมจะถนอมรถมากที่สุดเท่าที่จะทำได้เพราะผมถือว่าเป็นช่วงที่มีการสึกหรอมากที่สุดและรุนแรงที่สุด โดย:
1.1 ออกตัวนิ่มนวลที่สุดค่อยๆ ปล่อยคลัทช์และกดคันเร่งเบาๆ ให้รอบค่อยๆ สูงขึ้นทีละน้อยให้รถค่อยๆ เคลื่อนตัวออกไป ถ้าเป็นเกียร์ออโต้ก็ค่อยๆ ปล่อยเบรคจนสุดรถก็จะเคลื่อนตัวออกไปเองอย่างช้าๆ แล้วค่อยมาแตะคันเร่งกดลงเบาๆ เช่นกัน ( ถ้าฝึกบ่อยๆ เราจะกลายเป็นคนที่ขับรถอย่างนิ่มนวลไปโดยอัตโนมัติ และจะชินกับมันตลอดไป )
1.2 ควบคุมรอบเครื่องไม่ให้เกิน 2,000 รอบ เปลี่ยนเกียร์สูงขึ้นทันทีที่ 2,000 รอบ และลดเกียร์ต่ำลงทันทีที่ 1,200 รอบ ถ้าเป็นเกียร์ออโต้ก็จะปล่อยให้มันทำงานเองแต่จะควบคุมความเร็วไม่ให้เกิน 60 กม./ชม. และจะใช้โอเวอร์ไดรว์ทันทีที่ความเร็วถึง 60 กม./ชม.
1.3 เปลี่ยนเกียร์และรอบเครื่องหรือความเร็วมากหรือบ่อยที่สุดเท่าที่ทำได้ โดยไม่แช่หรือนิ่งไว้ที่รอบหรือความเร็วใดๆ โดยการกดหรือผ่อนคันเร่งช้าๆ อย่างนิ่มนวลเพื่อหลีกเลี่ยงการเกิดเอนจิ้นเบรค
1.4 ควบคุมความเร็วสูงสุดไม่ให้เกิน 60 กม./ชม.
1.5 หลีกเลี่ยงการเหยียบเบรคอย่างรุนแรง ( ยกเว้นฉุกเฉิน ) ยังไงเราก็ขับช้าอยู่แล้วสามารถที่จะคาดการณ์ล่วงหน้าและวางแผนการแตะเบรคได้อย่างนิ่มโดยไม่ยากนัก แต่ถ้าสามารถหาถนนโล่งๆได้ ก็จะชิดซ้ายและแตะเบรคเป็นระยะๆ เพื่อลดความเร็ว และจะได้เปลี่ยนเกียร์-ความเร็ว-รอบเครื่องบ่อยๆ ได้อีกด้วย

2. ที่ระยะ 101-500 กิโลเมตร
2.1 การปฏิบัติยังเป็นแบบเดิมทุกประการเพียงแต่จะลดความถี่ในการกระทำลงไปเช่นการเปลี่ยนเกียร์-รอบ-ความเร็วจากที่เคยทำอยู่ตลอดเวลาก็อาจจะลดเหลือซัก 5-10 นาทีครั้ง
2.2 เพิ่มการควบคุมรอบสูงขึ้นจากไม่เกิน 2,000 รอบ เป็นไม่เกิน 2,500 รอบ ( รอบต่ำลดเกียร์ราว 1,500-1,200 รอบ )
2.3 เพิ่มการควบคุมความเร็วสูงสุดขึ้นจากไม่เกิน 60 กม./ชม. เป็นไม่เกิน 80 กม./ชม.
2.4 เมื่อถึงระยะ 500 กิโลเมตร ทำการเปลี่ยนน้ำมันเครื่องพร้อมไส้กรองและน้ำมันเกียร์พร้อมกรอง ( ถ้ามี )

3. ที่ระยะ 501-1,000 กิโลเมตร
3.1 การปฏิบัติยังเป็นแบบเดิมทุกประการเพียงแต่จะลดความถี่ในการกระทำลงไปเช่นการเปลี่ยนเกียร์-รอบ-ความเร็วจากที่เคยทำอยู่จาก ข้อ2 ราว 5-10 นาทีครั้งก็อาจจะลดเหลือซัก 10-15 นาทีครั้ง ( รวมไปถึงการแช่รอบ-และความเร็วด้วย )
3.2 เพิ่มการควบคุมรอบสูงขึ้นจากไม่เกิน 2,500 รอบ เป็นไม่เกิน 3,000 รอบ ( รอบต่ำลดเกียร์ราว 1,500-1,200 รอบ )
3.3 เพิ่มการควบคุมความเร็วสูงสุดขึ้นจากไม่เกิน 80 กม./ชม. เป็นไม่เกิน 100 กม./ชม.
3.4 เมื่อถึงระยะ 1,000 กิโลเมตร ทำการเปลี่ยนน้ำมันเครื่องพร้อมไส้กรอง-น้ำมันเบรค-น้ำมันคลัทช์ ( ถ้ามี ) -น้ำมันเฟืองท้าย ( ถ้ามี ) -น้ำมันพวงมาลัย ( ถ้ามี )

4. ที่ระยะ 1,001-1,500 กิโลเมตร
4.1 การปฏิบัติยังเป็นแบบเดิมทุกประการเพียงแต่จะลดความถี่ในการกระทำลงไปเช่นการเปลี่ยนเกียร์-รอบ-ความเร็วจากที่เคยทำอยู่จาก ข้อ3 ราว 10-15 นาที ครั้งก็อาจจะลดเหลือซักไม่เกิน 30 นาทีครั้ง (รวมไปถึงการแช่รอบ-และความเร็วหรือการเดินทางไกลด้วย)
4.2 เพิ่มการควบคุมรอบสูงขึ้นจากไม่เกิน 3,000 รอบ เป็นไม่เกิน 3,500 รอบ ( รอบต่ำลดเกียร์ราว 1,500-1,200 รอบ )
4.3 เพิ่มการควบคุมความเร็วสูงสุดขึ้นจากไม่เกิน 100 กม./ชม. เป็นไม่เกิน 120 กม./ชม.

5. ที่ระยะ 1,501-3,000 กิโลเมตร
5.1 ขับขี่ตามปกติตามสะดวกแต่ก็ควรรักษาการปฏิบัติแบบเดิมในเรื่องความนุ่มนวลของการออกตัว-การเร่ง-การเบรค ( ถ้าสามารถทำได้ )
5.2 เพิ่มการควบคุมรอบสูงขึ้นจากไม่เกิน 3,500 รอบ เป็นไม่เกิน 4,000 รอบ ( รอบต่ำลดเกียร์ราว 2,000-1,200รอบ )
5.3 เพิ่มการควบคุมความเร็วสูงสุดขึ้นจากไม่เกิน 120 กม./ชม. เป็นไม่เกิน 140 กม./ชม.
5.4 เมื่อถึงระยะ 3,000 กิโลเมตร หรือไม่เกิน 3 เดือนทำการเปลี่ยนน้ำมันเครื่องพร้อมไส้กรอง

6. ที่ระยะ 3,001-5,000 กิโลเมตร
6.1 ขับขี่ตามปกติตามสะดวกแต่ก็ควรรักษาการปฏิบัติแบบเดิมในเรื่องความนุ่มนวลของการออกตัว-การเร่ง-การเบรค ( ถ้าสามารถทำได้เพราะจะเป็นการฝึกนิสัยการขับขี่ที่ดีอย่างถาวรไปในตัว )
6.2 เพิ่มการควบคุมรอบสูงขึ้นจากไม่เกิน 4,000 รอบ เป็นไม่เกิน 4,500 รอบ ( รอบต่ำลดเกียร์ราว 2,000-1,200รอบ )
6.3 เพิ่มการควบคุมความเร็วสูงสุดขึ้นจากไม่เกิน 140 กม./ชม. เป็นไม่เกิน 160 กม./ชม.
6.4 เมื่อถึงระยะ 5,000 กิโลเมตร หรือนานสุดไม่ควรเกิน 6 เดือนทำการเปลี่ยนน้ำมันเครื่องพร้อมไส้กรอง

7. ที่ระยะ 5,001-10,000 กิโลเมตร
7.1 ขับขี่ตามปกติตามสะดวก
7.2 ไม่จำกัดรอบเครื่องสูงสุดเอาแค่ไม่เกินขีดแดงก็พอ รอบต่ำลดเกียร์ก็ตามสะดวก
7.3 ไม่จำกัดความเร็วสูงสุดจะเอาแบบสุดเข็มไมล์หรือสุดคันเร่งก็ไม่ว่ากัน
7.4 เมื่อถึงระยะ 10,000 กิโลเมตร หรือนานสุดไม่ควรเกิน 12 เดือน ทำการเปลี่ยนของเหลวที่มีในรถทั้งหมดทั้งน้ำมันเครื่องพร้อมไส้กรอง-น้ำมันเกียร์ ( พร้อมกรอง ) -น้ำมันคลัทช์ ( ถ้ามี ) -น้ำมันเฟืองท้าย ( ถ้ามี ) -น้ำมันเบรค-น้ำหล่อเย็น-น้ำมันพวงมาลัย (ถ้ามี)

8. เกิน 10,000 กิโลเมตรขึ้นไป
8.1 เปลี่ยนถ่ายน้ำมันเครื่องพร้อมไส้กรองทุกๆ 10,000 กิโลเมตร หรือทุกๆ 6 เดือน
8.2 เปลี่ยนถ่ายน้ำมันเกียร์ ( ธรรมดา ) พร้อมไส้กรอง ( ถ้ามี ) ทุกๆ 40,000 กิโลเมตร หรือทุกๆ 2 ปี
8.3 เปลี่ยนถ่ายน้ำมันเกียร์ ( ออโต้ ) พร้อมไส้กรอง ( ถ้ามี ) ทุกๆ 20,000 กิโลเมตร หรือทุกๆ 1 ปี
8.4 เปลี่ยนถ่ายน้ำมันเบรค-น้ำหล่อเย็นและน้ำมันคลัทช์ ( ถ้ามี ) ทุกๆ 40,000 กิโลเมตร หรือทุกๆ 2 ปี
8.5 เปลี่ยนถ่ายน้ำมันพวงมาลัย ( ถ้ามี ) ทุกๆ 60,000 กิโลเมตร หรือทุกๆ 4 ปี
8.6 เปลี่ยนหัวเทียน ( ถ้ามี ) -กรองอากาศและกรองเชื้อเพลิง ทุกๆ 40,000 กิโลเมตร หรือทุกๆ 2 ปี
8.7 เปลี่ยนแบตเตอรี่ทุกๆ 2 ปี
8.8 เปลี่ยนสายพานทุกเส้นพร้อมตัวตั้งความตึง ( ถ้ามี ) ทุกๆ 4 ปี หรือไม่เกิน 80,000-100,000 กิโลเมตร
8.9 ปรับตั้งระยะของวาล์ว หรือถอดชุดปรับตั้งวาล์วอัตโนมัติออกทำความสะอาดทุกๆ 2 ปี หรือ 20,000 กิโลเมตร แต่ต้องไม่เกิน40,000 กิโลเมตร

อาจจะมีหลายท่านแย้งว่าศูนย์บริการทุกวันนี้เขาเปลี่ยนครั้งแรกที่ 10,000โลเลย เพราะเครื่องยนต์ที่ทนทานกว่าแต่ก่อนและทันสมัยขึ้น แต่อย่าลืมว่าน้ำมันที่เขาใส่ให้คุณนั้นตามศูนย์บริการนั้นมาจากถัง 200 ลิตร แล้วเปิดถังตั้งแต่เมื่อไหร่ ความชื้นเข้าไปเท่าไหร่แล้วกว่าจะถึงคิวเติมรถของท่าน

ครับ..จบเรื่องรถใหม่ป้ายแดงแล้ว ขอ
ให้ทุกท่านมีความสุขกับรถคันใหม่นะครับ


***จำไว้ว่าตราบใดที่เงินยังอยู่ในกระเป๋าเรา เราจะกลายเป็นพระเจ้า
แต่ถ้ามันปลิวไปอยู่กับเขาแล้วบางยี่ห้อ พระเจ้าจะกลายเป็นขอทานครับ****


โดย : มิวคุง
ขอบคุณ สาระดีดี จาก เว็บ Mthai นะครับ พอดี หาเจอเลยเอามาฝาก เพื่อน ๆ ชาว นิวซิตี้ไทยแลนด์จ้า
ส่วนตัวผมยังไม่มีรถ กำลังศึกษาข้อมูลครับ

No comments:

Post a Comment


MusicPlaylistView Profile
Create a playlist at MixPod.com